Regulations

ข้อบังคับ
ของ
สมาคมแพทย์โรคจมูก (ไทย)
………………………………………………………………
หมวดที่ ๑
ความทั่วไป
ข้อ ๑. สมาคมนี้ชื่อว่า สมาคมแพทย์โรคจมูก (ไทย)
ย่อว่า สจท.
เรียกเป็นภาษาอังกฤษ Thai Rhinologic Society
ย่อว่า TRS

ข้อ ๒. เครื่องหมายของสมาคม
มีลักษณะเป็นรูป จมูกและตา ล้อมรอบด้วยรูป Forehead mirror ซึ่งทำเป็นวงกลมซ้อน กัน
สองวง ด้านล่างอีก 2 วง มีตัวอักษรไทยว่า “สมาคมแพทย์โรคจมูก (ไทย)” และภาษา
อังกฤษว่า “Thai Rhinologic Society”

รูปเครื่องหมายของสมาคม

ข้อ ๓. สำนักงานของสมาคม ตั้งอยู่ ณ ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ตึกสยามินทร์ ชั้น ๑๕ ถนนพรานนก แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐

ข้อ ๔. วัตถุประสงค์ของสมาคม เพื่อ
๔.๑ เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น และประสบการณ์ทางวิชาการด้านโรคจมูก
๔.๒ จัดทำวารสารเพื่อเผยแพร่ข่าวสารข้อมูลทางวิชาการด้านโรคจมูก
๔.๓ ส่งเสริม สนับสนุน การศึกษา ค้นคว้าวิจัย และการบริการทางวิชาการด้านโรคจมูกและสาขาวิชาอื่นที่เกี่ยวข้อง
๔.๔ ประสานความร่วมมือด้านวิชาการระหว่างองค์กรที่เกี่ยวข้อง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

 

หมวดที่ ๒
สมาชิก
ข้อ ๕. สมาชิกของสมาคมมี ๓ ประเภท คือ
๕.๑ สมาชิกสามัญได้แก่แพทย์ที่เข้าร่วมประชุมวิชาการประจำปีของสมาคมฯ หรือการประชุมวิชาการนานาชาติทางโรคจมูก อย่างน้อย ๕ ปีต่อเนื่อง หรือแพทย์ที่คณะกรรมการบริหารเห็น
สมควรให้เป็นสมาชิกสามัญ
๕.๒ สมาชิกกิตติมศักดิ์ได้แก่บุคคลผู้ทรงคุณวุฒิหรือทรงเกียรติหรือผู้มีอุปการะคุณแก่สมาคมซึ่งคณะกรรมการบริหารลงมติให้เชิญเข้าเป็นสมาชิกของสมาคม
๕.๓ สมาชิกวิสามัญได้แก่ แพทย์ นักวิทยาศาสตร์และบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความสนใจทางด้านโรคจมูก

ข้อ ๖. สมาชิกจะต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้
๖.๑ เป็นผู้บรรลุนิติภาวะ
๖.๒ เป็นผู้มีความประพฤติเรียบร้อย
๖.๓ ไม่เป็นโรคที่สังคมรังเกียจ
๖.๔ ไม่ต้องคำพิพากษาของศาลให้เป็นบุคคลล้มละลาย หรือไร้ความสามารถ หรือ เสมือนไร้ ความสามารถ หรือต้องโทษจำคุก หรือรอลงอาญาก่อนหรือในระหว่างที่เป็นสมาชิกของสมาคม
๖.๕ ไม่ถูกยกเลิกหรือถูกพัก หรือเคยถูกพักใบอนุญาตการประกอบโรคศิลป์ จากแพทยสภา

ข้อ ๗. ค่าลงทะเบียน และค่าบำรุงสมาคม
๗.๑ สมาชิกสามัญ จะต้องเสียค่าลงทะเบียนครั้งแรก ๒๐๐ บาท
ค่าบำรุงเป็นรายปี ๆ ละ ๓๐๐ บาท
หรือค่าบำรุงตลอดชีพ ๓,๐๐๐ บาท
๗.๒ สมาชิกกิตติมศักดิ์ มิต้องเสียค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงสมาคมแต่อย่างใดทั้งสิ้น
๗.๓ สมาชิกวิสามัญ มิต้องเสียค่าบำรุงสมาคมแต่อย่างใดทั้งสิ้น

ข้อ ๘. การสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสมาคม
ให้ผู้ประสงค์จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมยื่นใบสมัครตามแบบของสมาคมต่อเลขาธิการโดย มีสมาชิกสามัญรับรอง ๒ คน และให้เลขาธิการติดประกาศรายชื่อผู้สมัครไว้ ณ สำนักงาน ของสมาคมเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๑๕ วัน เพื่อให้โอกาสสมาชิกอื่นๆของสมาคมรับทราบ และหากสมาชิกประสงค์จะคัดค้านการสมัคร สามารถใช้สิทธิ์คัดค้านได้ เมื่อครบกำหนดประกาศแล้ว ให้เลขาธิการนำใบสมัครและหนังสือคัดค้านของสมาชิก (ถ้ามี) ส่งให้คณะอนุกรรมการฝ่ายทะเบียนตรวจสอบก่อนล้วจึงนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารเพื่อพิจารณาอนุมัติว่าจะรับหรือไม่รับเข้าเป็นสมาชิกของสมาคม และเมื่อคณะกรรมการบริหารพิจารณาการสมัครแล้วผลเป็นประการใด ให้เลขาธิการเป็นผู้แจ้งให้ผู้สมัครทราบ

ข้อ ๙. ถ้าคณะกรรมการบริหารพิจารณาอนุมัติให้รับผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิกก็ให้ผู้สมัครนั้นชำระเงินค่าลงทะเบียน และค่าบำรุงสมาคมให้เสร็จภายใน ๓๐ วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากเลขาธิการ และสมาชิกภาพของผู้สมัครให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่ผู้สมัครได้ชำระเงินค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงสมาคมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ถ้าผู้สมัครไม่ชำระเงินค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงภายในกำหนด ก็ให้ถือว่าการสมัครคราวนั้นเป็นอันยกเลิก

ข้อ ๑๐. สมาชิกภาพ

๑๐.๑ สมาชิกภาพสมาชิกภาพของสมาชิกกิตติมศักดิ์ ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่หนังสือตอบรับคำเชิญของผู้ที่คณะกรรมการบริหารได้พิจารณาลงมติให้เชิญเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมได้มาถึงยังสมาคม
๑๐.๒ สมาชิกภาพของสมาชิกวิสามัญให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการบริหารมีมติเห็นชอบตามการสมัครเป็นสมาชิก

ข้อ ๑๑. สมาชิกภาพของสมาชิกให้สิ้นสุดลงด้วยเหตุดังต่อไปนี้
๑๑.๑ ตาย
๑๑.๒ ลาออก โดยยื่นหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรต่อคณะกรรมการบริหาร และคณะกรรมการบริหารได้พิจารณาอนุมัติและสมาชิกผู้นั้นได้ชำระหนี้สินที่ยังติดค้างอยู่กับสมาคมเป็นที่เรียบร้อย
๑๑.๓ ขาดคุณสมบัติสมาชิก
๑๑.๔ ค้างจ่ายค่าบำรุงสมาชิกรายปีสำหรับผู้ที่เป็นสมาชิกสามัญ
๑๑.๕ ที่ประชุมใหญ่ของสมาคมหรือคณะกรรมการบริหารได้พิจารณาลงมติให้ลบชื่อออกจากทะเบียนตามข้อเสนอของสมาชิกสามัญผู้ใดผู้หนึ่ง

ข้อ ๑๒. สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก
๑๒.๑ สิทธิและหน้าที่ของสมาชิกสามัญ
๑๒.๑.๑ มีสิทธิได้รับข้อมูลข่าวสารของสมาคม
๑๒.๑.๒ มีสิทธิเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการของสมาคมต่อคณะกรรมการบริหาร
หรือต่อที่ประชุมใหญ่
๑๒.๑.๓ มีสิทธิเข้าร่วมประชุมใหญ่ของสมาคม
๑๒.๑.๔ มีสิทธิในการเลือกตั้ง หรือได้รับการเลือกตั้ง หรือแต่งตั้งเป็นกรรมการบริหารสมาคม
และมีสิทธิออกเสียง ลงมติต่างๆ ในที่ประชุมได้คนละ ๑ คะแนนเสียง
๑๒.๑.๕ มีสิทธิร้องขอต่อคณะกรรมการบริหาร เพื่อตรวจสอบเอกสารและบัญชีทรัพย์สินของ
สมาคม
๑๒.๑.๖ มีสิทธิเข้าชื่อร่วมกันอย่างน้อย ๑ ใน ๔ ของสมาชิกสามัญทั้งหมดทำหนังสือร้องขอต่อคณะกรรมการบริหารให้จัดประชุมใหญ่วิสามัญได้
๑๒.๑.๗ มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามระเบียบปฏิบัติ และข้อบังคับของสมาคมโดยเคร่งครัด
๑๒.๑.๘ มีหน้าที่ประพฤติตนให้สมกับเกียรติที่เป็นสมาชิกของสมาคม
๑๒.๑.๙ มีหน้าที่ให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินกิจการต่างๆ ของสมาคม
๑๒.๑.๑๐ มีหน้าที่ร่วมกิจกรรมที่สมาคมได้จัดให้มีขึ้น
๑๒.๑.๑๑มีหน้าที่ช่วยเผยแพร่ชื่อเสียงของสมาคมให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย
๑๒.๒ สิทธิและหน้าที่ของสมาชิกกิตติมศักดิ์
๑๒.๒.๑ มีสิทธิได้รับข้อมูลข่าวสารของสมาคม
๑๒.๒.๒ มีสิทธิเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการของสมาคมต่อคณะกรรมการบริหาร
หรือต่อที่ประชุมใหญ่
๑๒.๒.๓ มีสิทธิเข้าร่วมประชุมใหญ่ของสมาคม
๑๒.๒.๔ มีสิทธิเข้าร่วมการประชุมวิชาการของสมาคมฯโดยไม่ต้องจ่ายเงิน
๑๒.๒.๕ มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามระเบียบปฏิบัติ และข้อบังคับของสมาคมโดยเคร่งครัด
๑๒.๒.๖ มีหน้าที่ประพฤติตนให้สมกับเกียรติที่เป็นสมาชิกของสมาคม
๑๒.๒.๗ มีหน้าที่ให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินกิจการต่างๆ ของสมาคม
๑๒.๒.๘ มีหน้าที่ร่วมกิจกรรมที่สมาคมได้จัดให้มีขึ้น
๑๒.๒.๙ มีหน้าที่ช่วยเผยแพร่ชื่อเสียงของสมาคมให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย
๑๒.๓ สิทธิและหน้าที่ของสมาชิกวิสามัญ
๑๒.๓.๑ มีสิทธิได้รับข้อมูลข่าวสารของสมาคม๑๒.๓.๒ มีสิทธิเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการของสมาคมต่อคณะกรรมการบริหาร
๑๒.๓.๓ มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามระเบียบปฏิบัติ และข้อบังคับของสมาคมโดยเคร่งครัด
๑๒.๓.๔ มีหน้าที่ประพฤติตนให้สมกับเกียรติที่เป็นสมาชิกของสมาคม
๑๒.๓.๕ มีหน้าที่ให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินกิจการต่างๆ ของสมาคม
๑๒.๓.๖ มีหน้าที่ร่วมกิจกรรมที่สมาคมได้จัดให้มีขึ้น
๑๒.๓.๗ มีหน้าที่ช่วยเผยแพร่ชื่อเสียงของสมาคมให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย

หมวดที่ ๓
การดำเนินกิจกรรมสมาคม
การเลือกตั้งนายกสมาคมซึ่งมีวาระ ๒ ปี ก่อนหมดวาระ ๓ เดือน ให้เลขาธิการแจ้งให้สมาชิกสามัญที่เป็นสมาชิกมาแล้วไม่น้อยกว่า ๑ ปี ทราบ เพื่อเสนอผู้สมควรเป็นนายก โดยมีผู้รับรองที่เป็นสมาชิกสามัญมาแล้วไม่น้อยกว่า ๑ ปีจำนวน ๕ คน ผู้ถูกเสนอชื่อต้องเคยเป็นคณะกรรมการบริหารของสมาคมชุดล่าสุด และเป็นมาแล้วอย่างน้อย ๔ ปี และเป็นสมาชิกสามัญมาแล้วอย่างน้อย ๖ ปี ผู้ถูกเสนอชื่อต้องยินยอมเข้าดำรงตำแหน่งนายกถ้าได้รับเลือก หลังจากนั้นเลขาธิการจะรวบรวมรายชื่อผู้ถูกเสนอให้สมาชิกสามัญเพื่อเลือกนายกฯ การ
ดำรงตำแหน่งนายกเป็นติดต่อกันได้ไม่เกิน ๒ สมัย

คณะกรรมการบริหารของสมาคมจัดกรรมการบริหารซึ่งไม่ถูกเสนอชื่อในการเลือกตั้งจำนวน ๓ คนเป็นผู้ตรวจนับคะแนน และแจ้งผลการเลือกตั้ง เมื่อได้นายกฯแล้ว ให้นายกฯมีสิทธิในการแต่งตั้งกรรมการบริหารจากสมาชิกสามัญตลอดชีพหรือบุคคลที่คณะกรรมการบริหารส่วนใหญ่เห็นชอบ เมื่อตำแหน่งนายกสมาคมว่างลง หรืออยู่ในภาวะไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ก็ให้อุปนายกคนที่ ๑ ทำหน้าที่แทน หากอุปนายกคนที่ ๑ ไม่สามารถ ปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้อุปนายกคนที่ ๒ ทำหน้าที่แทนจนครบวาระ

ข้อ ๑๓. ให้มีคณะกรรมการบริหารคณะหนึ่ง ทำหน้าที่บริหารกิจการของสมาคม มีจำนวนอย่างน้อย ๘ คนอย่างมากไม่เกิน ๒๐ คน คณะกรรมการบริหารนี้ได้มาจากการตั้งของนายกสมาคม กรรมการบริหารสมาคมมีตำแหน่งและหน้าที่โดยสังเขปดังต่อไปนี้
๑๓.๑ นายกสมาคม ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าในการบริหารกิจการของสมาคม เป็นผู้แทนสมาคม ในการติดต่อกับบุคคลภายนอก และทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารและการประชุมใหญ่ของสมาคม
๑๓.๒ อุปนายก ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยนายกสมาคมในการบริหารกิจการสมาคม ปฏิบัติตามหน้าที่ที่นายกสมาคมได้มอบหมายและทำหน้าที่แทนนายกสมาคมเมื่อนายกสมาคมไม่อยู่ หรือไม่สามารถจะปฏิบัติหน้าที่ได้ แต่การทำหน้าที่แทนนายกสมาคม ให้อุปนายกตามลำดับตำแหน่งเป็นผู้กระทำการแทน
๑๓.๓ เลขาธิการ ทำหน้าที่เกี่ยวกับงานธุรการของสมาคมทั้งหมด เป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่ของสมาคมในการปฏิบัติกิจการของสมาคม และปฏิบัติตามคำสั่งของนายกสมาคม ตลอดจนทำหน้าที่เป็นเลขานุการและเลขาธิการในการประชุมต่างๆ ของสมาคม
๑๓.๔ เหรัญญิก มีหน้าที่เกี่ยวกับการเงินทั้งหมดของสมาคม เป็นผู้จัดการทำบัญชีรายรับรายจ่ายบัญชีงบดุลของสมาคม และเก็บเอกสารหลักฐานต่างๆของสมาคมไว้เพื่อตรวจสอบ
๑๓.๕ ปฏิคม มีหน้าที่ในการให้การต้อนรับแขกของสมาคม เป็นหัวหน้าในการจัดเตรียมสถานที่ของสมาคม และจัดเตรียมสถานที่ประชุมต่างๆของสมาคม
๑๓.๖ นายทะเบียน มีหน้าที่เกี่ยวกับทะเบียนสมาชิกทั้งหมดของสมาคม ประสานงานกับเหรัญญิก ในการเรียกเก็บเงินค่าบำรุงสมาคมจากสมาชิก
๑๓.๗ ประชาสัมพันธ์ มีหน้าที่เผยแพร่กิจการและชื่อเสียงเกียรติคุณของสมาคมให้สมาชิกและบุคคลโดยทั่วไปให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย

๑๓.๘ กรรมการบริหารตำแหน่งอื่นๆ เช่น ประธานวิชาการ , ประธานวารสาร ตามความเหมาะสม ซึ่งคณะกรรมการบริหารเห็นสมควรกำหนดให้มีขึ้น โดยมีจำนวนเมื่อรวมกับตำแหน่งกรรมการบริหารตามข้างต้นแล้ว จะต้องไม่เกินจำนวนที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้ แต่ถ้าคณะกรรมการบริหารมิได้กำหนดตำแหน่งก็ถือว่าเป็นกรรมการกลาง
คณะกรรมการบริหารชุดแรก ให้ผู้เริ่มการจัดตั้งสมาคมเป็นผู้เลือกตั้ง ประกอบด้วยนายกสมาคมและกรรมการบริหารอื่นๆ ตามจำนวนที่เห็นสมควรตามข้อบังคับของสมาคม

ข้อ ๑๔. คณะกรรมการบริหารของสมาคมสามารถอยู่ในตำแหน่ง ได้คราวละ ๒ ปี และเมื่อคณะกรรมการบริหารอยู่ในตำแหน่งครบกำหนดตามวาระแล้ว แต่คณะกรรมการบริหารชุดใหม่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการ ก็ให้คณะกรรมการบริหารที่ครบกำหนดตามวาระรักษาการไปพลางก่อนจนกว่าคณะกรรมการบริหารชุดใหม่จะได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการ และเมื่อคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ให้ทำการส่งและรับมอบงานกันระหว่างคณะกรรมการบริหารชุดเก่า และคณะกรรมการบริหารชุดใหม่เป็นที่เสร็จสิ้นภายใน ๓๐ วัน นับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการบริหารชุดใหม่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการ

ข้อ ๑๕. ตำแหน่งกรรมการบริหารสมาคม ถ้าต้องว่างลงก่อนครบกำหนดตามวาระ ก็ให้คณะกรรมการบริหารแต่งตั้งสมาชิกสามัญคนใดคนหนึ่งที่เห็นสมควรเข้าดำรงตำแหน่งแทนตำแหน่งที่ว่างลงนั้น แต่ผู้ดำรงตำแหน่งแทนอยู่ในตำแหน่งได้เท่ากับวาระของผู้ที่ตนแทนเท่านั้น

ข้อ ๑๖. กรรมการบริหารอาจจะพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งมิใช่เป็นการออกตามวาระด้วยเหตุผลต่อไปนี้ คือ
๑๖.๑ ตาย
๑๖.๒ ลาออก
๑๖.๓ ขาดจากสมาชิกภาพ
๑๖.๔ ที่ประชุมใหญ่ลงมติให้ออกจากตำแหน่ง

ข้อ ๑๗. กรรมการบริหารที่ประสงค์จะลาออกจากตำแหน่ง ให้ยื่นใบลาออกเป็นลายลักษณ์อักษรต่อคณะกรรมการบริหาร และให้พ้นจากตำแหน่งเมื่อคณะกรรมการบริหารมีมติให้ออก

ข้อ ๑๘. อำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการบริหาร
๑๘.๑ มีอำนาจออกระเบียบปฏิบัติต่างๆ เพื่อให้สมาชิกได้ปฏิบัติ โดยระเบียบปฏิบัตินั้นจะต้องไม่ขัดต่อข้อบังคับฉบับนี้
๑๘.๒ มีอำนาจแต่งตั้งและถอดถอนเจ้าหน้าที่ของสมาคม
๑๘.๓ มีอำนาจแต่งตั้งกรรมการที่ปรึกษาหรืออนุกรรมการได้ แต่กรรมการที่ปรึกษา หรืออนุกรรมการจะสามารถอยู่ในตำแหน่งได้ไม่เกินวาระของคณะกรรมการบริหารที่แต่งตั้ง
๑๘.๔ มีอำนาจเรียกประชุมใหญ่สามัญประจำปี และประชุมใหญ่วิสามัญ
๑๘.๕ มีอำนาจแต่งตั้งกรรมการในตำแหน่งอื่นๆ ที่ยังมิได้กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้
๑๘.๖ มีอำนาจบริหารกิจการของสมาคม เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ตลอดจนมีอำนาจอื่นๆตามที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้
๑๘.๗ มีหน้าที่รับผิดชอบในกิจการทั้งหมด รวมทั้งการเงิน และทรัพย์สินทั้งหมดของสมาคม
๑๘.๘ มีหน้าที่จัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญ ตามที่สมาชิกสามัญจำนวน ๑ ใน ๔ ของสมาชิกทั้งหมดได้เข้าชื่อร้องขอให้จัดประชุมใหญ่วิสามัญขึ้น ซึ่งการนี้จะต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญ ขึ้นภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือร้องขอ
๑๘.๙ มีหน้าที่จัดทำเอกสารหลักฐานต่างๆ ทั้งที่เกี่ยวกับการเงิน ทรัพย์สินและการดำเนิน กิจกรรมต่างๆของสมาคมให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ และสามารถจะให้สมาชิกตรวจดูได้เมื่อสมาชิกร้องขอ
๑๘.๑๐ จัดทำบันทึกการประชุมต่างๆของสมาคม เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานและจัดส่งให้สมาชิก ได้รับทราบ
๑๘.๑๑ มีหน้าที่อื่นๆ ตามที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้

ข้อ ๑๙. คณะกรรมการบริหารจะต้องประชุมกัน อย่างน้อยปีละ ๒ ครั้ง ทั้งนี้เพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับการบริหารกิจการของสมาคม

ข้อ ๒๐. การประชุมคณะกรรมการบริหาร จะต้องมีคณะกรรมการบริหารเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่า ๔ คน จึงจะถือว่าครบองค์ประชุม มติของที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร ถ้าข้อบังคับมิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นก็ให้ถือคะแนนเสียงมากเป็นเกณฑ์ แต่ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ก็ให้ประธานในการประชุมเป็นผู้ชี้ขาด

ข้อ ๒๑. ในการประชุมคณะกรรมการบริหาร ถ้านายกสมาคมและอุปนายกสมาคมไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่
สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ก็ให้กรรมการบริหารที่เข้าประชุมในคราวนั้นเลือกตั้งกันเอง เพื่อให้
กรรมการบริหารคนใดคนหนึ่งทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุมครั้งนั้น

หมวดที่ ๔
การประชุมใหญ่
ข้อ ๒๒. การประชุมใหญ่ของสมาคมมี ๒ ชนิด คือ
๒๒.๑ ประชุมใหญ่สามัญ
๒๒.๒ ประชุมใหญ่วิสามัญ
ข้อ ๒๓. คณะกรรมการบริหารจะต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปีๆ ละ ๑ ครั้ง

ข้อ ๒๔. การประชุมใหญ่วิสามัญ อาจจะมีขึ้นได้ก็โดยเหตุที่คณะกรรมการบริหารเห็นควรจัดให้มีขึ้น หรือเกิดขึ้นด้วยการเข้าชื่อร่วมกันของสมาชิกไม่น้อยกว่า ๑ ใน ๔ ของสมาชิกสามัญทั้งหมด ทำหนังสือร้องขอต่อคณะกรรมการบริหารให้จัดให้มีขึ้น

ข้อ ๒๕. การแจ้งกำหนดนัดประชุมใหญ่ ให้เลขาธิการเป็นผู้แจ้งกำหนดนัดประชุมใหญ่ให้สมาชิกได้ทราบและการแจ้งจะต้องแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร โดยระบุวัน เวลา และสถานที่ให้ชัดเจน โดยจะต้องแจ้งให้สมาชิกได้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า ๗ วัน และประกาศแจ้งกำหนดนัดประชุมไว้ ณ สำนักงานของสมาคมเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๗ วัน ก่อนถึงกำหนดการประชุมใหญ่

ข้อ ๒๖ การประชุมใหญ่สามัญประจำปี จะต้องมีวาระการประชุมอย่างน้อยดังต่อไปนี้
๒๖.๑ แถลงกิจการที่ผ่านมาในรอบปี
๒๖.๒ แถลงบัญชีรายรับ รายจ่าย และบัญชีงบดุลของปีที่ผ่านมาให้สมาชิกรับทราบ
๒๖.๓ เลือกตั้งนายกสมาคมคนใหม่ เมื่อครบกำหนดวาระ
๒๖.๔ เลือกตั้งผู้สอบบัญชี
๒๖.๕ เรื่องอื่นๆ ถ้ามี

ข้อ ๒๗ ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี หรือ การประชุมใหญ่วิสามัญ จะต้องมีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่า ๒๐ คน หรือ ๑ ใน ๕ ของสมาชิกสามัญทั้งหมด จึงจะถือว่าครบองค์ประชุม แต่ถ้าเมื่อถึงกำหนดเวลาประชุม ยังมีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมไม่ครบองค์ประชุม ให้คณะกรรมการบริหารของสมาคมประชุมใหญ่อีกครั้งหนึ่ง โดยจัดให้มีการประชุมขึ้นภายใน ๑๔ วัน นับแต่วันที่นัดประชุมครั้งแรกสำหรับการประชุม ถ้ามีสมาชิกสามัญเข้าประชุมเป็นจำนวนเท่าใดก็ให้ถือว่าครบองค์ประชุมยกเว้นถ้าเป็นการประชุมใหญ่วิสามัญที่เกิดขึ้นจากการร้องขอของสมาชิกก็ไม่ต้องจัดประชุมใหญ่ขึ้นอีก ให้ถือว่าการประชุมเป็นอันยกเลิก

ข้อ ๒๘. การลงมติต่างๆในที่ประชุมใหญ่ ถ้าข้อบังคับมิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ก็ให้ถือคะแนนเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ แต่ถ้าคะแนนเสียงที่ลงมติมีคะแนนเสียงเท่ากัน ก็ให้ประธานในการประชุมเป็นผู้ชี้ขาด

ข้อ ๒๙. ในการประชุมใหญ่ของสมาคม ถ้านายกสมาคม และอุปนายกสมาคมไม่มาร่วมประชุม หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ก็ให้ที่ประชุมใหญ่ทำการเลือกตั้งกรรมการบริหารที่มาร่วมประชุมคนใดคนหนึ่งให้ทำหน้าที่

หมวดที่ ๕
การเงินและทรัพย์สิน
ข้อ ๓๐. การเงินและทรัพย์สินทั้งหมด ให้อยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริหาร เงินสดของสมาคมถ้ามีให้นำฝากไว้ในธนาคารหรือสถาบันการเงินที่คณะกรรมการบริหารเสียงส่วนใหญ่เห็นชอบ

ข้อ ๓๑. การลงนามในตั๋วเงินหรือเช็คของสมาคม จะต้องมีลายมือชื่อของนายกสมาคม หรือผู้ทำการแทนลงนามร่วมกับเหรัญญิก หรือเลขาธิการ

ข้อ ๓๒. ให้นายกสมาคมมีอำนาจสั่งจ่ายเงิน ของสมาคมได้ครั้งละไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งแสนบาทถ้วน) ถ้าเกินกว่านั้นจะต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการบริหาร

ข้อ ๓๓. ให้เหรัญญิกมีอำนาจเก็บรักษาเงินสด ของสมาคมได้ไม่เกิน ๔๐,๐๐๐ บาท (สี่หมื่นบาทถ้วน) ถ้าเกินกว่าจำนวนนี้ จะต้องนำฝากธนาคารในบัญชีของสมาคม

ข้อ ๓๔. เหรัญญิก จะต้องทำบัญชีรายรับ รายจ่าย และบัญชีงบดุล ให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ การรับหรือจ่ายเงินทุกครั้ง จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อของนายกสมาคม หรือผู้ทำการ แทนร่วมกับเหรัญญิกหรือผู้ทำการแทน

ข้อ ๓๕. ผู้สอบบัญชี จะต้องมิใช่กรรมการบริหารหรือเจ้าหน้าที่ของสมาคมและจะต้องเป็นผู้สอบบัญชีที่ได้รับอนุญาต

ข้อ ๓๖. ผู้สอบบัญชีมีอำนาจหน้าที่ จะเรียกเอกสารที่เกี่ยวกับการเงินและทรัพย์สิน จากคณะกรรมการบริหารและสามารถจะเชิญกรรมการบริหาร หรือเจ้าหน้าที่ของสมาคมเพื่อสอบถามเกี่ยวกับบัญชีและทรัพย์สินของสมาคมได้

ข้อ ๓๗. คณะกรรมการบริหาร จะต้องให้ความร่วมมือกับผู้สอบบัญชี เมื่อได้รับการร้องขอ

หมวดที่ ๖
การเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับและการเลิกสมาคม

ข้อ ๓๘. ข้อบังคับของสมาคมจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้โดยมติของที่ประชุมใหญ่เท่านั้น และองค์ประชุมใหญ่จะต้องมีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่า ๑ ใน ๕ ของสมาชิกสามัญทั้งหมด มติของที่ประชุมใหญ่ในการให้เปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับจะต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า ๒ใน ๓ ของสมาชิกสามัญที่เข้าร่วมประชุมทั้งหมด

ข้อ ๓๙. การเลิกสมาคมจะเลิกได้ก็โดยมติของที่ประชุมใหญ่ของสมาคม ยกเว้นเป็นการเลิก เพราะเหตุของกฎหมาย ถ้าจะมียกเลิกสมาคมต้องแจ้งในวาระการประชุมให้สมาชิกทราบอย่างน้อย ๓๐ วันก่อนวันประชุมใหญ่ มติของที่ประชุมใหญ่ที่ให้เลิกสมาคมจะต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า ๓ ใน ๔ ของสมาชิกสามัญที่เข้าร่วมประชุมทั้งหมด

ข้อ ๔๐. เมื่อสมาคมต้องเลิก ไม่ว่าด้วยเหตุใดๆก็ตาม ทรัพย์สินของสมาคมที่เหลืออยู่หลังจากที่ได้ชำระบัญชีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ให้ตกเป็นของศิริราชมูลนิธิ เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโรคจมูกผู้ยากไร้

 

หมวดที่ ๗

บทเฉพาะกาล
ข้อ ๔๑. ข้อบังคับฉบับนี้ ให้เริ่มใช้บังคับได้นับตั้งแต่วันที่สมาคมได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเป็นต้นไป

ข้อ ๔๒. เมื่อสมาคมได้รับอนุญาต ให้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลจากทางราชการ ก็ให้ถือว่า ผู้เริ่มการทั้งหมดเป็นสมาชิกสามัญ

(ลงชื่อ)……………………………………………………ผู้จัดทำข้อบังคับ (แพทย์หญิงฉวีวรรณ บุนนาค)